แมว เบงกอล (Bengal cat) เป็นพันธุ์แมวที่มีลักษณะเด่นด้วยลายที่คล้ายกับเสือดาวหรือเสือดำ มีลวดลายที่เรียกว่า “marbled” หรือ “spotted” ซึ่งทำให้พวกมันดูเหมือนแมวป่าขนาดเล็ก แมวเบงกอลมีขนาดกลางถึงใหญ่ มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงและรูปร่างที่สวยงาม พวกมันเป็นแมวที่มีพลังงานสูงและต้องการการกระตุ้นทางจิตใจและร่างกาย แมวเบงกอลเป็นที่รู้จักในเรื่องความฉลาดและความขี้เล่น พวกมันมักจะมีนิสัยเป็นมิตรและชอบมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของ การดูแลแมวเบงกอลไม่ซับซ้อนมาก แต่ต้องมีการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอและให้พวกมันได้ออกกำลังกายอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันความเบื่อหน่ายและปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้
ประวัติสายพันธุ์ เบงกอล
ชื่อของ แมว เบงกอล มาจาก Felis Bengalensis ซึ่งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของแมวดาว ในภาษาลาติน ถือเป็นแมวสายพันธุ์ใหม่ที่มีต้นกำเนิดจากการผสมข้ามพันธุ์ของแมวดาวเอเชียกับแมวพื้นเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อรักษาความคล้ายคลึงทางกายภาพที่แข็งแกร่งของแมวบรรพบุรุษที่เป็นแมวป่า และเพื่อให้ได้สายพันธุ์แมวที่เหมาะสำหรับการเลี้ยงในครอบครัว ปัจจุบันแมวเบงกอลเป็นแมวที่ติดอันดับ 5 ของแมวยอดนิยมในราชอาณาจักร
ลักษณะทางกายภาพ
แมวเบงกอล มีลักษณะภายนอกคล้ายแมวป่า แข็งแรง สามารถมองเห็นกล้ามเนื้อได้ชัดเจน มีความสมดุลของกล้ามเนื้อและขนาดตัว
แมวเบงกอลมีขากรรไกรที่แข็งแรง มีจุดสังเกตเป็นสีเข้มบริเวณรอบดวงตา มีหูขนาดเล็ก แต่มีความกลมมนที่ส่วนปลายหู ขนสั้นถึงปานกลาง ผิวสัมผัสมีความแน่นและเรียบ นอกจากนี้ยังมีสีของขนที่เป็นเอกลักษณ์ของสายพันธุ์ไม่เหมือนกับแมวชนิดอื่น คือ มีลายจุด, ลายคล้ายดอกกุหลาบ, ลายลูกศร หรือ ลายหินอ่อน ซึ่งจุดส่วนใหญ่จะปรากฎในรูปแบบสุ่ม หรือวางตัวในแนวนอนตามลำตัว
อายุขัย
แมวเบงกอลมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 14-16 ปี ซึ่งมีอายุขัยเฉลี่ยใกล้เคียงกับแมวสายพันธุ์ทั่วไป
ลักษณะนิสัย
แมวเบงกอลเป็นแมวที่มีนิสัยรักใคร่ ชอบแสดงความรัก และเป็นแมวที่มีพลังเยอะ ว่องไว ชอบเล่น ชอบปีนป่าย นอกจากนี้แมวเบงกอลยังเป็นแมวที่ฉลาดและชอบที่จะสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และสามารถส่งเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์
การเข้ากับเด็ก
แมวเบงกอลเป็นแมวที่กระตือรืนร้นและเข้าสังคมได้ดี เหมาะสำหรับการเลี้ยงในครอบครัวที่มีเด็กและสุนัขที่เป็นมิตร แมวเบงกอลสามารถเล่นและเรียนรู้เทคนิคง่ายๆ และชอบที่ได้รับความสนใจจากเด็กๆ ที่เล่นกับเบงกอลด้วยความรักและเคารพ แต่จะหลีกเหลี่ยงการเล่นกับเด็กน้อยที่หัดเดิน แมวเบงกอลเป็นแมวที่ไม่กลัวอะไร แม้แต่สุนัขก็ตาม จึงสามารถเล่นกับสุนัขได้หากสุนัขไม่ได้ทำร้ายแมว แต่อย่างไรก็ตามแมวเบงกอลยังคงมีความเป็นนักล่าอยู่จึงไม่ควรวางใจกับสัตว์เลี้ยงขนาดเล็กที่สามารถเป็นเหยื่อได้ เช่น กระต่ายขนาดเล็ก หนูแฮมสเตอร์ และหนูตะเภา
การดูแล
การออกกำลังกาย
แมวเบงกอลชอบที่จะวิ่งและเล่น โดยเฉพาะการปีนป่ายบนที่สูง การมีเสาสำหรับฝนเล็บที่สูงและมีคอนโดอยู่ด้านบนเป็นอุปกรณ์เสริมที่ดี นอกจากนี้ยังอาจจะมีชั้นที่ติดกับผนังสำหรับให้แมวกระโดด หรือของเล่นสำหรับการปีนป่ายอื่น ๆ ร่วมด้วย การออกกำลังกายของแมวเบงกอลส่วนใหญ่จึงเกิดจากกิจกรรมที่ทำเป็นปกติ แต่สามารถฝึกฝนให้แมวออกกำลังกายเพิ่มขึ้นจากของเล่นได้ เช่น วงล้อหมุน ซึ่งแมวเบงกอลสามารถทั้งเดินและวิ่งด้วยความเร็วบนวงล้อได้
อาหาร
เนื่องจากแมวจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์กินเนื้อ ทำให้อาหารชนิดโปรตีนสูงเป็นสิ่งสำคัญ และเนื่องจากแมวเบงกอลมีเชื้อสายของแมวดาว ทำให้ความต้องการอาหารส่วนของเนื้อสัตว์อาจอ้างอิงมาจากอาหารปกติที่แมวดาวกิน เช่น นก กิ้งก่า หรือแมลง แต่ในปัจจุบันอาหารแมวในท้องตลาดมีส่วนประกอบของโปรตีนน้อยกว่าคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าวโพด ข้าว หรือ ถั่วเหลือง ทำให้แมวเบงกอลอาจจะไม่เหมาะกับอาหารเม็ดที่มีปริมาณโปรตีนไม่เพียงพอ อาหารที่เหมาะสำหรับแมวเบงกอลที่นิยมให้ในปัจจุบัน คือ เนื้อสัตว์ดิบที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค (BARF) ซึ่งเป็นเนื้อสดและไม่ผ่านการปรุงแต่ง โดยเจ้าของสามารถทำให้แมวเบงกอลได้เอง แต่หากต้องการซื้อควรเลือกซื้ออาหารที่มีโปรตีนมากกว่า 50-80% ของปริมาณสารอาหารทั้งหมด
โรคประจำพันธุ์
- โรคระบบประสาท
- ความเสื่อมของเส้นประสาทส่วนปลาย (Distal neuropathy)
- โรคระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจ
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขยายใหญ่ (Hypertrophic cardiomyopathy)
- ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกจากการขาดเอนไซม์ไพรูเวท ไคเนส (Erythrocyte pyruvate kinase deficiency)
- โรคระบบกระดูกเอ็นและข้อต่อ
- ภาวะกระดูกซี่โครงแบนผิดปกติในแมวเด็ก (Flat-chested kitten syndrome)
- ภาวะข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia)
- โรคสะบ้าเคลื่อน (Patellar luxation)
- โรคตา
- ภาวะเสื่อมของจอประสาทตา (Progressive retinal atrophy) เบงกอล